พวกผมแค่ชมชอบในรสชาติของสุรา เรื่องราวที่เขียน เริ่มต้นจากความชอบและความสนใจ ที่นำไปสู่การค้นหา
เมื่อได้รับรู้ และทดลองด้วยตัวเองแล้วก็อยากแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ และคนอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องเดียวกันครับ

ข้อคิดเห็นที่ให้เกี่ยวกับเรื่องการร่ำสุราในแต่ละประเภท เป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ ที่ได้มาจากการลองของด้วยตัวเอง
ที่แค่อยากรู้ และอยากลองตามประสาครับ ผิดถูกประการใดก็คงไม่สามารถรับรองได้ครับ ขอน้อมรับคำแนะนำ และติชมทุกประการครับ


*** หมายเหตุ *** สงวนสิทธิ์สำหรับการอ่านและนำไปใช้ประกอบบทความเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้กัน และไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปใช้ในเชิงพาณิชย์ทุกอย่างครับ

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Karuizawa จากตำนานสู่ผู้พลิกวงการวิสกี้ญี่ปุ่น



สวัสดีครับเพื่อนๆ หลังจากกระแสเรื่องห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสังคม online วนกลับมาอีกคราวพวกเราแอดมินก็ถกถึงแนวทางที่อยากจะนำเสนอสาระอย่างไรให้เป็นไปตามกฎหมายและยังคงความรู้อย่างครบถ้วน โดยผมเองจะยังคงนำเสนอบทความแหมือนเดิมแต่อาจจะปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับกฎหมายและรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป

สำหรับวันนี้ผมขอเล่าถึงวิสกี้ตัวหนึ่งจากฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งชื่อโรงกลั่นนี้น่าจะไม่คุ้นหูกับคนไทยซักเท่าไหร่ เพราะโรงกลั่นนี้เป็นเพียงโรงกลั่นเล็กๆ แถวยังปิดตัวอย่างถาวรไปแล้วอีกต่างหาก แต่ที่วันนี้ผมขอหยิบยกขึ้นมาเขียนเพราะมักจะมีคนถามว่าทำไมวิสกี้ญี่ปุ่นถึงแพงผิดหูผิดตาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็คงพูดได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากไอ้โรงกลั่นนี้นี่แหละ ถ้าอ่านถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ คงพอจะเดาได้นะครับว่าโรงกลั่นนี้มีนามว่าอะไร ใช่แล้วนั่นคือ
Karuizawa นั้นเอง

โรงกลั่น Karuizawa ตั้งอยู่ในเมืองมิโยตะ จังหวัดนากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น โรงกลั่นนี้ก่อตั้งในปีค.ศ. 1955 และเริ่มดำเนินกิจการปีค.ศ 1956 ซึ่งถือว่าเป็นโรงกลั่นที่เคยมีขนาดเล็กที่สุดในญี่ปุ่น เคยดำเนินกิจการภายใต้ Mercian Corporation ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Kirin (เจ้าของเบียร์ Kirin นั้นแหละ) Karuizawa จะเลือกใช้วัดถุดิบบาร์เลย์นำเข้าจากสก๊อตแลนด์และเน้นใช้ถัง Sherry โดยแหล่งน้ำมาจากภูเขาไฟ Asama ที่ยังไม่ดับสนิท และถูกบ่มอยู่ในโรงบ่มที่ปกคลุมด้วยเถาไอวี่ อ่านถึงนี่คิดถึงรสชาติก็น่าฉงนหละครับ แต่ด้วยขนาดโรงกลั่นที่เล็กอีกทั้งวิสกี้ยังออกมาจำหน่ายหลัง Yamazaki หลายปีจึงทำให้ถูกจำกัดเพียงสินค้าท้องถิ่นไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาด อีกทั้งด้วยสภาพเศรษฐกิจ และความนิยมในวิสกี้ลดลงตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1982 เป็นต้นมา จึงทำให้ Karuizawa ถึงคร่าวต้องหยุดดำเนินกิจการลงในปีค.ศ. 2000 แต่วิสกี้ที่ยังคงค้างอยู่ในโรงบ่มก็มีการเอามาบรรจุและจัดจำหน่ายออกมาบ้างปีละนิดละหน่อยให้ได้พอค่าน้ำค่าไฟและให้แฟนๆ ได้หายคิดถึง

แล้วความบ้าเลือดของมันดันมาเกิดที่มีฝรั่งไปดื่มแล้วบอกว่ามันมีความเป็นญี่ปุ่นมีรสชาติที่มีเอกลักษณ์ บลาๆ พูดต่อๆ กันไป แต่ด้วยความที่มันมีน้อยหายากราคาก็เลยค่อยๆ สูงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อีกทั้งภายหลังเริ่มมีกลุ่มลงทุนจัดทีมไล่ล่าตามตลาดประมูล บวกกับปีค.ศ. 2012 โรงกลั่นได้ถูกขายและถูกรื้อถอนเป็นที่ดินเปล่าในปีค.ศ. 2013 จึงทำให้ราคาถูกปั่นแบบกู่ไม่กลับไปพร้อมกับ ขวด
Vintage ปี 1964 ที่ถูกจำหน่ายในราคา 700,000บาทแก่บาร์และนักดื่มผู้สนับสนุนโรงกลั่นมาอย่างยาวนาน โดยนับแต่นั้นมาราคาวิสกี้ญี่ปุ่นทุกค่ายวิ่งขึ้นไป 3-4 เท่าตัวในทันที ซึ่งวันนี้หากจะดื่ม Karuizawa ซักขวดที่ไม่ใช่ Vintage ปีลึกๆ เชื่อผมได้เลยว่ามีเริ่มต้นขวดละ 5 หมื่นถึง 1แสนบาท และไม่ใช่ว่ากำเงินไปซื้อจะได้นะครับ คุณต้องรู้จักแหล่งจริงๆ ถึงจะเจอ แถมอย่างที่เห็นช่วงราคากว้างมากเพราะขึ้นอยู่กับความพอใจของร้านค้าด้วย


มาเข้าเรื่องบุญปากของผมพอดีมีน้องคนนึงเอามาให้ชิม ขวดนี้เป็น Vintage ปี 1999-2000 ลำดับที่ 3 ในชุดภูเขาไฟฟูจิ ที่วางจำหน่ายในปี 2015 ทางผู้จัดจำหน่ายบอกว่าครบชุดจะมี 36 ตัว ซึ่งข้อมูลจำนวนแต่ละตัวจะมีกี่ขวดนั้นไม่เป็นที่ชัดเจนแต่น่าจะมีราวๆ 400 ขวด โดยขวดนี้บรรจุมาแบบ Cask Strength ที่ 60.5ดีกรี

Appearance: สีน้ำตาล ทองแดงเข้ม ขาเล็กยาวไหลช้ามาก
Aroma: กลิ่นลูกเกด คลาเมลไหม้ กานพลู
Taste: หวานหนาๆ บอร์ดี้หนักๆ กลมเกลี้ยงไม่มีเสี้ยน ผลไม้ตากแห้ง อินทผาลัม
With Water: บอร์ดี้ยังหนัก คลาเมล มีกลิ่นคล้ายเปลือกส้มคลายตัวออกมา และมีกลิ่นคล้ายดอกลำไยมาแบบผิวๆ
Finish : จบแบบกลมโตในปากและคอ กลิ่นคล้ายพลัมแห้ง ไอศครีมรัมเรซิ่น ค้างในปากนาน

สรุป : จุดเด่นๆ ของตัวนี้คือบอร์ดี้ที่ใหญ่โต แต่ไม่ตูมตามอารมณ์คล้ายๆ อมลูกเปตองไว้ในปาก หนักแต่ไม่เผ็ดแม้ดีกรีปาไป 60 ก็ยังมีความเนียนเรียบ และมีกลิ่นไปทางขนมเค้กหรือพวกผลไม้อบแห้งที่จะหวานฉ่ำ ซึ่งในวันนั้นได้ลองชิมเทียบกับ Yamazaki 18ปี และ Hibiki 17ปี พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก และถือเป็นวิสกี้ตัวนึงที่แปลกประหลาดเลยหละ เสียก็แต่ราคาที่มันเกินตัวไปไกล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น