พวกผมแค่ชมชอบในรสชาติของสุรา เรื่องราวที่เขียน เริ่มต้นจากความชอบและความสนใจ ที่นำไปสู่การค้นหา
เมื่อได้รับรู้ และทดลองด้วยตัวเองแล้วก็อยากแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ และคนอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องเดียวกันครับ

ข้อคิดเห็นที่ให้เกี่ยวกับเรื่องการร่ำสุราในแต่ละประเภท เป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ ที่ได้มาจากการลองของด้วยตัวเอง
ที่แค่อยากรู้ และอยากลองตามประสาครับ ผิดถูกประการใดก็คงไม่สามารถรับรองได้ครับ ขอน้อมรับคำแนะนำ และติชมทุกประการครับ


*** หมายเหตุ *** สงวนสิทธิ์สำหรับการอ่านและนำไปใช้ประกอบบทความเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้กัน และไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปใช้ในเชิงพาณิชย์ทุกอย่างครับ

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

รีเจนซี่กับคำตอบที่อยู่ในสายลม


เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รีเจนซี่จากเพื่อนคนหนึ่งเขาบอกว่าขวดนี้เป็นเกรดส่งออกวันนั้นที่ได้ลองชิมผมก็รู้สึกว่ารสชาติมันใช่กับรีเจนซี่ที่เคยดื่มเมื่อนานมาแล้วแต่ก็ยังไม่มีโอกาสเอามาเทียบกับรุ่นที่วางขายในท้องตลาดปัจจุบันนี้ พอดีวันนี้ได้รับรีเจนซี่รุ่นที่วางขายในท้องตลาดปัจจุบันวันนี้ก็เลยเอามาเทียบกันให้หายสงสัย

ขวดซ้าย Regency ได้มาจากเพื่อนที่ว่าเป็นเกรดส่งออกทำจากองุ่น ขวดกลาง Armagnac องุ่นแท้ 100% ขวดขวารีเจนซี่ที่ขายปกติในบ้านเรา เข้าใจว่าระยะหลังทำจากสับปะรด 

แค่กลิ่นก็ต่างกันแล้ว ขวดซ้ายกับกลางโทนกลิ่นใกล้ๆ กัน แต่ไม่เด่นถึงขั้นว่าเป็นองุ่นแท้เหมือนขวดกลาง ส่วนขวดขวากลิ่นโทนออกทะเลไปเลย แหลมๆ จะว่าไปก็มีกลิ่นคล้ายสัปปะรดอยู่ มีกลิ่นแฝงคล้ายยางไม้ปนมาด้วย

รสชาติ ขวดซ้ายหวานออกแนวดาร์กคาราเมลนิดๆ สัมผัสค่อนข้างโอเคไม่สากลิ้น โทนรสชาติโดยรวมคล้ายขวดกลางอยู่พอประมาณ ขวดขวาความหวานคล้ายไซรัปออกแนวหวานจนขม แถมยังมีกลิ่นยางไม้ฉุนๆ แฝงเข้ามาด้วย ไม่น่าจะเหมาะที่จะเอามาดื่มแบบ neat เอาไปชงโซดาน่าจะดี

Conclusion  รสชาติ 2 ขวดที่เอามาลองนี้ต่างกันทั้งกลิ่นและรสชาติค่อนข้างมาก ขวดซ้ายเป็นล็อตที่ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนขวดขวาเป็นล็อตที่ผลิตในเดือนสิงหาคม

จากที่คุยกับเพื่อนที่เอาขวดซ้ายมาให้เขาก็บอกว่าเป็นล็อตส่งออกที่ได้มาจากคนใกล้ชิดของโรงงาน ส่วนเพื่อนผมบางคนก็ว่าน่าจะต่างกันที่ล็อตของการผลิตมากกว่า เพราะเขาดื่มประจำรสชาติไม่เคยนิ่ง เราคงจะสรุปเองกับเรื่องนี้ไม่ได้แน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป 

สำหรับคำตอบที่แท้จริงนั้นเราคงตอบไม่ได้ว่ารีเจนซี่ต่างกันที่ล็อตของการผลิต หรือ เกรดในการขาย ตปท. กับในบ้านเรา เพราะคำตอบนั้นคงมีเพียงแค่โรงงานเท่านั้นที่จะตอบได้

#เดินหลงในดงเหล้า

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

John Barr Reserve Blend 40%

แบรนด์วิสกี้ John Barr เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1881 แต่ถูกเปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงปัจจุบันตกมาอยู่ในความดูแลของ WHYTE & MACKAY Group ซึ่งมีโรงกลั่นวิสกี้อย่าง Dalmore, Fettercairn อยู่ในครอบครอง โดย John Barr เข้ามาจำหน่ายอยู่ในบ้านเราได้พักหนึ่งโดยหวังจะมาทำตลาดในกลุ่มวิสกี้ราคาหลักร้อยคนทั่วไปจับต้องได้ ที่ผมเคยเห็นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่นคือ Reserve Blend (สีดำ) และ Finest Blend (สีแดง) ด้วยรูปทรงของขวดและสีดูคล้ายกับแบรนด์ที่เราคุ้นเคยแบรนด์หนึ่งอย่างมาก



ในส่วนรสชาติ John Barr Reserve Blend ที่เอามารีวิว มีกลิ่นควันบางๆ ไล่มาด้วยวนิลาจัด กับกินถั่ว Hazelnuts รสชาติออกไปทางเผ็ดกลิ่นวนิลา น้ำผึ้งยังคงเด่น มีอบเชยเข้ามาผสม ตอนจบสั่น Dry มีกลิ่นแอลกอฮอล์ค้างในจมูกชัด

ลองผสมโซดาอัตราส่วน 1:3 กลิ่นของวิสกี้ไม่ไปตีกับโซดา ยังมีความเด่นของกลิ่นวิสกี้ และโซดาช่วยหน่วงกลิ่นแอลกอฮอล์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีความเลี่ยนอยู่พอสมควร

สรุปในราคาหลักร้อยก็ถือเป็นวิสกี้ที่ให้ความสำราญได้ แต่หากจะดื่มจริงจังเอารสชาติอาจจะไม่ถึงอารมณ์ โดยส่วนตัวเช้ามามีแฮ้งค์เล็กน้อย

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

Peaky Blinder Bourbon Whiskey



เบอร์เบิ้นขวดนี้ได้รับแรงบัลดาลใจจากซีรี่ส์แนวแก๊งค์สร้างสรรค์โดย Sadler’s ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศอังกฤษ ฉลากของเบอร์เบิ้นขวดนี้ใช้รูปหัวหน้าแก๊งค์เดาว่าน่าจะเป็นอัลคาโปน บรรจุมาที่ 40ดีกรี ขนาด 700ml ผนึกด้วยจุกค๊อก สีของเหล้า ทองส้มอ่อนๆ กลิ่นนำออกแนวน้ำผึ้ง กล้วยหอม รสชาติเผ็ด คลาเมลบางๆ อัดแน่นมากับกลิ่นพริกไทย จบ dry เผ็ดแบบเร็วๆ ลองแบบ On the rock น้ำแข็งช่วยดึงความหวานออกมาได้และยังโชว์กลิ่นเนยถั่วทำให้ดื่มง่ายขึ้นแม้ในวันร้อนๆ โดยรวมตัววิสกี้ค่อนข้างเผ็ดแต่เมื่อโดนน้ำแล้วสามารถดึงกลิ่นที่ซ่อนอยู่ได้หากเอามาทำ cocktail ก็น่าสนใจ

* Peaky Blinder Bourbon Whiskey มีจำหน่ายในไทยแบบมีแสตมป์ถูกต้อง ราคาพันนิดๆ
** ทุกครั้งที่ดื่มสุราโปรดมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าความสนุกของตนเอง

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

The Macallan Edition No. 5 48.5% Alc/Vol.

 Limited Edition ตัวที่ 5 ของ Series Edition จากค่าย The Macallan ผ่านการบ่มด้วย American Oak Cask โดยใช้ Whisky จากถัง 3 ประเภทในสัดส่วนที่ต่างกัน

1. Butt First Fill 30% เพื่อให้ได้สีที่เข้ม และรสชาติที่จัดจ้าน

2. Barrel Second Fill 33% เพื่อให้ได้สีที่อ่อนลงมาเล็กน้อย กับรสชาติที่กลมกล่อม

3. Hogshead American Cask 37% จะให้ในเรื่องของกลิ่น Citrus, Vanilla, Tropical Fruit

ข้อมูลเหล่านี้มาจากข้างกล่องที่บรรจุมาทั้งหมด

สำหรับ The Macallan Edition No. 5 ขวดนี้เป็น SR หรือ สปอนเซอร์รีวิวที่ผมไม่ได้ซื้อเอง แต่ก็จะขอเขียนตามความรู้สึกเหมือนเช่นเคยไม่รับประกันความถูกต้องครับ

สี Amber Gold คล้ายสีฟางข้าวเก่า

กลิ่น Tropical Fruit ค่อนข้างชัดเจน เสาวรส มะม่วงสุก อบเชยเจือมาบาง ๆ เล็กน้อย โดยรวมแล้วกลิ่นเหมือนไม่ใช่ Macallan ที่คุ้นเคยสักเท่าไหร่ ถ้าจะให้เทียบกับ Fine Oak และ Sherry Oak ก็คือกลิ่นออกไปทาง Fine Oak มากกว่า แซมด้วยกลิ่นที่ผมขอนิยามเองว่าเป็นกลิ่น New Spirit คล้ายกลิ่นส่าเหล้าแต่ไม่ฉุนเหมือนส่าเหล้าบ้านเรา กลิ่นนี้มักจะเจอในกลุ่ม Single Malt ที่เป็น NAS หรือไม่ระบุอายุในการบ่มเป็นส่วนใหญ่ครับ

รสชาติ เนื้อเหล้าออกแนว Light Body จิบแรกที่ได้คือความหวานนำ หวานแบบ Syrup ซึ่งแปลกดีปกติมักจะได้ความหวานแบบ Caramel จาก Macallan มากกว่า ตามด้วยความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ อบเชย พริกไทย ที่ค่อย ๆ กระจายตามขึ้นมา ปิดท้ายตามด้วยความหวานของ Syrup อีกครั้งบนลิ้น

Aftertaste ค่อนข้างจะสั้นไปสักนิด ทิ้งความหวานของ Syrup ไว้บนลิ้น และกลิ่น Tropical Fruit พอควรในปาก และลำคอ

Conclusion อันนี้เป็น คหสต. ล้วน ๆ
สำหรับคนที่เป็นสายสะสมมีตั้งแต่ Edition No. 1-4 จะเก็บให้ครบตาม Series ไปก็ไม่ว่ากันครับ
ส่วนคนที่เป็นสายดื่ม ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็น คหสต. ล้วน ๆ กำจำนวนนี้ไปซื้อ Macallan Sherry Oak 12 กับ Macallan Triple Cask 12 รวมกัน 2 ขวด ก็น่าจะประหยัดกว่าในราคาที่ขายตามห้างบ้านเรา พร้อมกับความสุขในรสชาติที่น่าจะมากกว่าในจำนวนเงินที่พอ ๆ กัน

เขียนจบแล้วรู้สึกว่านี่อาจเป็น SR ขวดแรก และขวดสุดท้ายแล้วสิ :P